“เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” ( เตะเดียว เปลี่ยนชีวิต)

บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” ( เตะเดียว เปลี่ยนชีวิต )

สืบเนื่องจากกรณี นาย ด. คนต่างชาติ สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ พักอาศัยอยู่ที่วิลล่าหรูในจังหวัดภูเก็ต ใช้โทรศัพท์มือถือของตนเองถ่ายเหตุการณ์ขณะเดินไปชายหาด เห็นภาพ “คุณหมอ” กับเพื่อนนั่งเล่นอยู่ตรงขั้นบันไดทางลงหาด เมื่อคุณหมอ หันหลังไปเห็น นาย ด. เป็นจังหวะเดียวกับที่ เท้าของนาย ด. ไปกระแทกเข้ากับแผ่นหลังของคุณหมอ พร้อมถ้อยคำสบถ และท่าทีเหมือนกับ “ไล่” ให้คุณหมอ ออกไป ไม่ให้นั่งที่ขั้นบันใดที่เกิดเหตุ

แทนที่ นาย ด. จะขอโทษคุณหมอ แต่ นาย ด. กลับกล่าวอ้างว่า “ ลื่น” แล้วเท้าไปโดน พร้อมกับกล่าวถ้อยคำสบถและพูดเหยียดคุณหมอ ว่า “ เป็นคนพื้นเมือง” และยังกล่าวอ้างอีกว่า ตนเองรู้จักตำรวจชั้นผู้ใหญ่

เรื่องนี้ จะเงียบหายไปทันที ถ้า......คนที่ถูกเตะ เป็นชาวบ้านธรรมดา เมื่อถูก คนต่างชาติ แสดงท่าทีกริยาและกล่าวอ้างแบบนั้น ก็จะกลัว และไม่อย่ายุ่ง เรื่องก็จะจางเงียบหายไป

หากแต่ว่าเรื่องนี้ คนที่ถูกกระทำ คือ “ คุณหมอ คนที่มีต้นทุนทางสังคมสูง” หมายความว่า ในสังคมไทยยอมรับและนับถือว่า คุณหมอ หรือ แพทย์ เป็นบุคคลชนชั้นสูง เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ อย่างน้อยก็มี “ปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต”

ฉะนั้น เมื่อ“คุณหมอไม่ยอม ความจึงปรากฏ” คุณหมอได้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนาย ด.

และ คนไทยทั่วประเทศ ก็ไม่ยอมเช่นกัน” ที่จะให้ คนต่างชาติ มาแสดงอำนาจบาตรใหญ่ในผืนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะคนภูเก็ต จึงมีการรวมตัวกัน เรียกร้องขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ พฤติการณ์และการกระทำของ นาย ด.ในอดีตที่ผ่านมา

คราวนี้ ข้อมูลเริ่ม “พรั่งพรู” ออกมามากมาย

เริ่มจาก “ นาย ด. ขับรถยนต์ไป แล้วเกิดมีปัญหากับ “คนขับรถพยาบาล” แล้วโชว์นิ้วทำท่าปืนจ่อหัว พร้อมถ้อยคำสบถด่า

นอกจากนี้ นาย ด. ยังมีปัญหากับ ผู้ให้เช่าอาคาร ที่นาย ด.ไปทำสัญญาเช่าอาคาร เพื่อจดทะเบียนมูลนิธิ

“ทำไมเด็ดดอกไม้ จึงสะเทือนไปถึงดวงดาว ?” ( เตะเดียว เปลี่ยนชีวิต )
๑. เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกคำสั่ง “ ให้มีการรื้อถอนบันไดหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการรุกล้ำที่สาธารณะ” ภายใน ๓๐ วัน หากไม่มีการรื้อถอน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะเข้าไปรื้อถอนเอง

แล้วเรียกร้องค่าเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว รวมถึง ตรวจสอบว่า หลักฐานการออกเอกสารสิทธิถูกต้องหรือไม่ ?

๒. สส.ภูเก็ต พร้อมกรมปศุสัตว์ ป่าไม้ อุทยาน ตำรวจ ลงพื้นที่ตรวจสอบ ปางช้างของนาย ด.เส้นทางการเงิน, ตรวจสอบการเสียภาษี, การจัดตั้งมูลนิธิ รวมถึงวีซ่าของนาย ด. ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ ?

๓. ประชาชนชาวภูเก็ตประมาณ ๓๐๐ คน แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่สถานที่เกิดเหตุ บริเวณแหลมยามู ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ประณามชาวต่างชาติที่ทำร้ายผู้หญิง เขียนป้ายขับไล่ ร้องตรวจสอบ ขอคืนพื้นที่ชายหาดสาธารณะแก่ประชาชน พร้อมชูธงชาติไทยและร่วมร้องเพลงชาติไทย

๔. รมว.มหาดไทย มีคำสั่งให้จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการตรวจสอบมาเฟียต่างชาติในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจึงได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง ๓ อำเภอ และหน่วยงานด้านความมั่นคงตรวจสอบพฤติกรรมชาวต่างชาติว่าใครบ้างที่เข้าข่ายมาเฟีย หรือผู้มีอิทธิพลในการคุกคามข่มขู่ผู้ประกอบการที่ผิดกฎหมายต่างๆ โดยให้เร่งตรวจสอบและขึ้นบัญชีมาเฟีย และให้แต่ละอำเภอรีบรายงานมาเพื่อจะมีการดำเนินการต่อไป

๕. ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รวมถึง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ต่างได้ทำหนังสือถึง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขอให้พิจารณาดำเนินการเพิกถอนวีซ่าของ นาย ด. ล่าสุด เมื่อคืนวันที่ ๖ มี.ค.๒๕๖๗ ผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ๖ ได้ลงนามอนุมัติเพิกถอนวีซ่า ของ นาย ด. ตามที่ ตม.จว.ภูเก็ต เสนอแล้ว

โดยเห็นว่า การกระทำของ นาย ด. มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่า “ เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขและความเรียบร้อยของประชาชน” ซึ่งเข้าเงื่อนไขตาม พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ ๒๕๒๒ ตามพฤติการณ์ที่ได้รับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจาก ผู้ว่าราชการจังหวัด และ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต

หลังจากนี้ ตม.จว.ภูเก็ต จะทำเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าตัวทราบและทำการควบคุมตัวไปยังห้องกัก ตม.จว.ภูเก็ต แต่อย่างไรก็ตาม นาย ด. ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีกรณีทำร้ายร่างกาย ฯ ยังสามารถใช้สิทธิประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีความจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว นาย ด. ก็ต้องถูกผลักดันให้ออกนอกประเทศไป แล้วถูก “ แบล็คลิสต์ ” หมดโอกาสกลับเข้ามาประเทศไทยอีกต่อไป

คราวนี้มาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกาย” ตามประมวลกฎหมาอาญา มี ๔ ระดับ (เบาไปหาหนัก) คือ

(๑) ทำร้าย ไม่ถึง กับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ( เช่น เป็นรอย เป็นแผลข่วน เป็นต้น )

มาตรา ๓๙๑ ผู้ใด ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๒) ทำร้ายเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

มาตรา ๒๙๕ ผู้ใด ทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกาย” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๓) ทำร้ายสาหัส

มาตรา ๒๙๗ ผู้ใด กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

อันตรายสาหัสนั้น คือ

(๑) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท

(๒) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

(๓) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด

(๔) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

(๕) แท้งลูก

(๖) จิตพิการอย่างติดตัว

(๗) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

(๘) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน


(๔) ทำร้ายถึงตาย ( ไม่มีเจตนาฆ่า มีเจตนาทำร้าย แต่ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย)

มาตรา ๒๙๐. "ผู้ใด มิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สามปีถึงสิบห้าปี

ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สามปีถึงยี่สิบปี “

เมื่อพิจารณา “คลิปมือถือ” ของ นาย ด. ที่ถ่ายไว้ หรือบันทึกภาพไว้ ซึ่งในตอนแรก นาย ด. กล่าวอ้างด้วยความมั่นใจว่า มีการบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ฝ่ายตน

แต่เมื่อคลิปนี้แพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์ ปรากฏภาพว่า “ เมื่อคุณหมอ หันกลับมาแล้วมองขาขึ้นไป “วิลล่า” ก็ถูกเท้าของนาย ด. ซึ่งรูปร่างสูงใหญ่ และมีน้ำหนักมาก “ เตะ (กระแทก) ไปที่แผ่นหลังของคุณหมอ( ผู้เสียหาย)ทันที จนทำให้คุณหมอ รู้สึก “ เจ็บ ” แทนที่ นาย .ด. จะกล่าวอ้าง “คำขอโทษ” กลับถูกนาย ด. พูดข่มขู่อ้างว่าตนเอง รู้จักตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เพื่อให้ คุณหมอ กลัวและไม่กล้าไปร้องทุกข์ดำเนินคดี

มีข้อสังเกตว่า -

๑.ความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกาย” ทั้ง ๔ ระดับนั้น ผู้กระทำจะต้องกระทำ โดยมี “เจตนา ” ด้วย หากผู้กระทำ ไม่มีเจตนา “ทำร้าย” ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน “ ทำร้าย” เพราะขาดเจตนา

๒. จะเป็นความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกาย” ระดับใด มาตราใด ขึ้นอยู่กับ “ ผลการตรวจบาดแผลของแพทย์” ว่า บาดแผลที่ผู้ถูกทำร้ายจะมีลักษณะเช่นใด , ต้องรักษานานเท่าใดจึงจะหายเป็นปกติ หรือ จนกว่าจะทำงานได้ตามปกติ (หากเกินกว่า ๒๐ วัน ก็อาจเป็นความผิดฐาน ทำร้ายร่างกายสาหัส ตามมาตรา ๒๙๗ )

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการตรวจบาดแผลของแพทย์ อาจระบุว่า “ รักษาจนหายเป็นปกติได้ไม่เกิน ๒๐ วัน ” ก็ตาม แต่ก็หาใช่ว่า จะไม่เป็นความผิดฐาน “ ทำร้ายสาหัส” ตามมาตรา ๒๙๗ ไม่ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาความเป็นจริงและคำให้การของ ผู้บาดเจ็บ หรือ ผู้ถูกทำร้ายด้วยว่า บาดแผลที่เขาได้รับนั้นได้หายเป็นปกติ จนสามารถทำงานได้ตามปกติภายในกี่วัน และเกิน ๒๐ วันหรือไม่

คราวนี้มาดู กฏเกณฑ์การเพิกถอนวีซ่าของคนต่างชาติของประเทศไทย

พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้ คนต่างด้าว ซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร

(๑)........

(๗) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่า เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ

(๘) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิง หรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรือเพื่อประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

หมวด ๖ การส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ( เข้าแล้ว ต้องออกไป )

- เป็นภัยสังคม จะก่อเหตุร้ายต่อสังคมและความมั่นคงแห่งรัฐ ต้องถูกรัฐมนตรีสั่งเพิกถอนการอนุญาต

มาตรา ๕๓ - คนต่างด้าวซึ่ง “เข้ามา” มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแล้วภายหลังปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่ง มีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา ๑๒

(๗) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่า เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับหรือ

(๘) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่า “เข้ามา” เพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิง หรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรือเพื่อประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ให้ “อธิบดี” เสนอเรื่องไปยัง “คณะกรรมการ” ถ้า “คณะกรรมการ” เห็นว่า ควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ก็ให้เสนอความเห็นต่อ “รัฐมนตรี” เพื่อสั่ง “เพิกถอนการอนุญาต” ต่อไป...

- อยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต อยู่โดยการอนุญาตสิ้นสุด หรือ ถูกเพิกถอนการอนุญาต ต้องถูกผลักดันออกไป

มาตรา ๕๔ คนต่างด้าวผู้ใด เข้ามา หรือ อยู่ในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุด หรือ ถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะ ส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้

มาถึงบรรทัดนี้ ท่านคงเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นกับ นาย ด. (ตามข่าว) ว่าจะต้องถูกดำเนินคดีฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของ ศาลแขวงภูเก็ต นาย ด.จะต้องอยู่ในประเทศไทยจนกว่าจะถูกดำเนินคดีเสร็จสิ้น แต่จะต้องถูกกักตัวไว้ที่ ตม. ก่อน เนื่องจาก ถูกเพิกถอนวีซ่า แล้ว อย่างไรก็ตาม นาย ด.อาจจะขออนุญาตประกันตัวจาก ตม. ออกมาเพื่อขอต่อสู้ “คดีทำร้ายร่างกายฯ” และ “ ขอเพิกถอนคำสั่งถอน วีซ่า”

แต่หาก นาย ด. ให้การรับสารภาพทันทีที่ฟ้องศาล ศาลก็จะพิพากษาคดีได้เลย โดยไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ เนื่องจากคดีนี้ไม่ใช่คดีที่มีโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลสามารถพิจารณาพิพากษาได้เลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖

และหากคดีนี้พิพากษาเร็ว คดีเสร็จสิ้นเร็ว และหากไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีก็จะถึงที่สุดเร็วทันที นาย ด. ก็จะต้องรับโทษจำคุกตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา (หากมี) เว้นแต่ ศาลจะรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดเวลา....ปี

เกมส์ก็จะจบเร็ว นาย ด.ก็จะต้องถูกผลักดันออกนอกประเทศไปโดยเร็ว และอาจจะถูก “แบล็คลิสต์” ห้ามไม่ให้กลับเข้ามาประเทศไทยอีกเลย

ฉะนั้น จึงน่าเชื่อว่า อาจมีความพยายามให้ตนเองได้อยู่ในประเทศไทยต่อไปในระหว่างการถูกดำเนินคดีด้วยการ “ให้การปฏิเสธในชั้นศาล” (รวมถึงการให้การปฏิเสธจริงจริงว่า ไม่ได้ทำร้าย (เตะ) หากแต่ตนเองลื่นแล้วขาไปโดนก็ได้ ) เพื่อจะได้มีการนัดหมายสืบพยานโจทก์จำเลย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมก็ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร และครั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว นาย ด.ก็อาจใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อ ซึ่งเป็นสิทธิที่จำเลยจะกระทำได้เช่นกัน ก็สามารถยืดระยะเวลาการอยู่ในประเทศไทยออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

เหมือนกับเพลงของวงอินคา “ หมากเกมส์นี้ฉันก็รู้ ว่าจะต้องลงเอยอย่างไร........”

ท่านเชื่อหรือยังว่า “ เด็ดดอกไม้ กระเทือนถึงดวงดาว” ( เตะเดียว เปลี่ยนชีวิต )


นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์

อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและ สิทธิมนุยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร


Mediathailand.Report

ติดต่อทำข่าว งานแถลงข่าว เชิญร่วมงาน , ข่าวประชาสัมพันธ์ , รีวิว โฆษณา ฯลฯ Admin: สื่อมวลชนคนทำข่าว , เพจ Mediathailand.report , Website : www.mediathailand.report , Youtube : MDT Channel ,https://www.tiktok.com/@mediathailand.report ,https://twitter.com/a_jaipiam ได้ที่ Email : pintorichplus@gmail.com

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า