บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “กู้ (ดอก) โหด โพสต์เปลือยประจาน”

บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “กู้ (ดอก) โหด โพสต์เปลือยประจาน”

สืบเนื่องจากข่าว “ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ตั้งเงื่อนไขให้ “ผู้กู้” เปลือยกาย แล้วถ่ายรูปคู่กับบัตรประชาชน เพื่อใช้ข่มขู่หากลูกหนี้ผิดสัญญา จะนำรูปภาพโพสต์บนสังคมออนไลน์ พร้อมแท็กหาคนรู้จัก

ผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้วหลายรายหลังพบโพสต์ภาพประจานลูกหนี้ ที่ผิดนัดชำระหนี้ โดยก่อนทำสัญญา ได้กำหนดเงื่อนไขให้ “ ลูกหนี้ผู้หญิง ถ่ายภาพเปลือยกายท่อนบน ส่วนลูกหนี้ผู้ชายให้เปลือยกายถ่ายภาพท่อนล่าง คู่กับบัตรประชาชน” โดยให้ผู้กู้ส่งภาพและรายละเอียดการขอกู้ผ่านทางข้อความในเฟซบุ๊ก โดยจะปล่อยกู้ตั้งแต่ ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ บาท ต่อสัปดาห์ หรือประมาณร้อยละ ๘๐ ต่อเดือน( อะไรจะโหดซะขนาดนั้น)

ท่ามกลางรัฐบาลมีนโยบาย “แก้ไขหนี้นอกระบบ” ข่าวนี้ก็สวนกระแส ขึ้นมาทันที

มาดูกันว่า “เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ” ทำแบบนี้ได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ ? และหากผิดกฎหมาย ผิดกฎหมายอะไร ?

(๑) เริ่มจาก “ดอกเบี้ย” ตามกฎหมายกำหนดอย่างไร ? :

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๔

“ ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ย เกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็น ร้อยละสิบห้าต่อปี”

จะเห็นได้ว่า ดอกเบี้ยที่ถูกกฎหมายตามที่ภาครัฐกำหนดนั้น จะต้องมีอัตราดอกเบี้ย ไม่เกินร้อยละ ๑๕ ต่อปี หรือ ไม่เกินร้อยละ ๑.๒๕ ต่อเดือน แต่หากเป็น “สถาบันทางการเงิน” จะมีพระราชบัญญัติฯ แยกออกมาอีกฉบับ ให้สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕ ต่อปี

การที่ “เจ้าหนี้โหด” รายนี้ เรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ ร้อยละ ๘๐ ต่อเดือน ย่อมขัดต่อกฎหมายดังกล่าว และไม่อาจจะกระทำได้

(๒) แล้วการที่เจ้าหนี้เรียกเก็บ “ดอกเบี้ย” ไว้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว จะมีผลอย่างไร ?

ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๕๖๐

มาตรา ๔ “ บุคคลใด ให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงิน หรือ กระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอําพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกินสองปี หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

****(๑) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้

แสดงว่า “ การที่เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (ร้อยละ ๑๕ ต่อปี) โดยที่ เจ้าหนี้ ไม่ใช่ สถาบันการเงิน หรือไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายอื่น ย่อมมีความผิดและมีโทษทางอาญา “ จำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท”

(๓) อาจมีคำถามต่อไปว่า “ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เรียกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น จะตกเป็น“ โมฆะ” คือ เสียไปทั้งหมด หรือ ฟ้องร้องบังคับกันไม่ได้เลย ใช่หรือไม่ ?

คำตอบ คือ “ใช่” แต่ว่า ในส่วน“หนี้เงินต้น”นั้น ยังคงสมบูรณ์อยู่ (เงินต้น ไม่โมฆะ)

(๔) แล้ว “ดอกเบี้ยที่ ผู้กู้ยืม ชำระไปแล้ว” จะเรียกคืนได้หรือไม่ ?

คำตอบคือ “เรียกคืนไม่ได้” เพราะกฎหมายถือว่า “เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ เรียกคืนไม่ได้”

แต่อย่างไรก็ตาม มีคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ถือว่า “ ให้นำดอกเบี้ยเกินอัตราทั้งหมดที่ลูกหนี้ชำระไปแล้ว (แม้จะตกเป็นโมฆะ และถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจก็ตาม) ไป “หัก”ออกจาก “ต้นเงิน” หรือ “ เงินต้น” ที่ทำสัญญากู้ยืมกันไว้

(๕) แม้ “ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด” จะตกเป็นโมฆะ แต่สำหรับ " ดอกเบี้ยผิดนัด” ยังคงอยู่ ผู้ให้กู้ยืม ก็ยังคง “บังคับดอกเบี้ยผิดนัดได้”

(๖) แล้ว “ ดอกเบี้ยผิดนัด” กฎหมายกำหนดอย่างไร ?

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๒๒๔ “ หนี้เงิน” นั้น ให้คิด “ดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด” ในอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๗ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น...”

หมายความว่า การคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อปีตามมาตรา ๗ บวกด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๒ ต่อปีตามมาตรา ๒๒๔ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยผิดนัดจึงเท่ากับ “ร้อยละ ๕ ต่อปี”

(๗) ทำสัญญาเงินกู้แบบนี้ ชอบไหม ? ใช้บังคับได้ไหม ?

“สัญญาเงินกู้” ที่กำหนดเงื่อนไขการกู้เงิน “ ให้ผู้หญิง ถ่ายภาพเปลือยกายท่อนบน ส่วนผู้ชาย ให้เปลือยกายถ่ายภาพท่อนล่าง คู่กับบัตรประชาชน และให้ผู้กู้ส่งภาพและรายละเอียด ผ่านข้อความ เฟซบุ๊ก” โดยจะปล่อยกู้ตั้งแต่ ๕๐๐ บาท ถึง ๑,๐๐๐ บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ บาท/สัปดาห์ หากลูกหนี้ขาดส่งงวดเดียว ยินยอมให้เจ้าหนี้โพสต์ประจานให้อับอายได้ ” นั้น

สัญญาเงินกู้ที่มีเงือนไขดังกล่าว ย่อมเป็นสัญญากู้เงินที่ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน”

ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๕๐ . “การใดมี วัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย, เป็นการพ้นวิสัยหรือ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

“ โมฆะ” หมายถึง “ สูญไป หรือเสียไปตั้งแต่ต้น”

ฉะนั้น แม้เจ้าหนี้โหดรายนี้ จะบังคับให้ลูกหนี้ “ สัญญาเงินกู้” ในลักษณะดังกล่าว ก็ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับเอาแก่ลูกหนี้ได้ เพราะถือว่าเป็นสัญญาที่ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน” สูญไป เสียไปตั้งแต่ต้น ตกเป็นโมฆะ นั่นเอง

นอกจากนี้ยังอาจถือได้ว่า เป็นสัญญาที่มี “ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” คือ ข้อสัญญาหรือข้อตกลงซึ่ง คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ไม่ว่าฝ่ายที่เสียเปรียบนั้นได้รู้ หรือไม่รู้ถึงการเสียเปรียบนั้นก็ตาม (มาตรา ๔ วรรคแรก) คือ ข้อตกลงในสัญญาใดที่ทำให้ผู้ซื้อได้เปรียบผู้ขายแล้ว ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

และเมื่อถือว่าเป็น “ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” แล้วให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

(๘) “ทวงหนี้” แบบนี้ได้ไหม ผิดกฎหมายหรือไม่ ?

ตาม “พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ.๒๕๕๘” : การทวงหนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของลูกหนี้ กฎหมายจึงกำหนดวิธีการทวงหนี้ไว้ ดังนี้

๑. การติดต่อ: โดยบุคคล หรือไปรษณีย์

๒. สถานที่ติดต่อ: สถานที่ที่ระบุไว้เพื่อการทวงหนี้ หากลูกหนี้ไม่ได้แจ้งให้ติดต่อตาม ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือตามที่คณะกรรมการทวงถามหนี้ประกาศกำหนด

๓. เวลาที่ติดต่อ: สามารถทวงหนี้โดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่าง ๘.๐๐ น.- ๒๐.๐๐ น. วันหยุดราชการ ๘.๐๐ น.- ๑๘.๐๐ น.

๔. ความถี่: สามารถทวงได้ ไม่เกิน ๑ ครั้ง/วัน (ถ้า “เพื่อนทวงเพื่อน” ทวงได้เกิน ๑ ครั้ง/วัน)

ข้อห้าม ในเรื่องการทวงหนี้ ได้แก่

- ห้ามทวงถามหนี้กับ “คนอื่น” ซึ่งมิใช่ “ลูกหนี้” เว้นแต่ บุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้

- ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น เนื่องจากกฎหมายไม่ให้ประจานลูกหนี้ หรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง โดยบอก “คนที่ไม่เกี่ยวข้อง”

ยกเว้น เป็นคนในครอบครัวลูกหนี้ เช่น สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน และกรณีที่บุคคลอื่นถามเจ้าหนี้ว่า “มาติดต่อเพราะสาเหตุอะไร”

- ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมาย หนังสือหรือสื่อใด ๆ ให้(บุคคลอื่น) เข้าใจว่า ติดต่อเพื่อทวงหนี้

- ห้ามติดต่อ แสดงตนทำให้ผู้ติดต่อด้วยเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้

*****- ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น ถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. ๒๕๕๘ และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

- ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น

- ห้ามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศ

ฉะนั้น การขู่ว่า “ จะโพสต์ภาพเปลือยประจาน หากไม่ชำระหนี้ หรือผิดนัด นอกจากอาจจะเป็นความผิดตาม “ พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ.๒๕๕๘” แล้วยังอาจจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อีกได้แก่

ฐาน “กรรโชก” ตามมาตรา ๓๓๗

ผู้ใด “ข่มขืนใจ” ผู้อื่น “ให้ยอมให้” หรือ “ยอมจะให้” ตนหรือผู้อื่นได้ “ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน” โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือ โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือ ทรัพย์สิน ของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “กรรโชก” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

หรือ ฐาน “รีดเอาทรัพย์” ตามมาตรา ๓๓๘

ผู้ใด “ข่มขืนใจ” ผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่า “ จะเปิดเผยความลับ” ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

“ ภาพโป้เปลือยร่างกาย” และ “ข้อมูลรายละเอียดในบัตรประชาชน” ก็ถือว่า “เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เป็นเจ้าของข้อมูล และผู้เป็นเจ้าของเรือนร่างกาย โดยเฉพาะ “อวัยวะเพศ หรือ ของสงวน”อันอาจถือเป็น “ความลับ” ส่วนบุคคลได้

(๙) การโพสต์ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ของบุคคลอื่น จะทำได้ไหม ?

การโพสต์ “ข้อมูลบนหน้าบัตรประชาชน”ของผู้อื่น จะเข้านิยามของ 'ข้อมูลส่วนบุคคล' ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา ๒๗ กำหนดไว้ว่า

“ ห้ามเปิดเผยโดยเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอม” และ ผู้ใดฝ่าฝืนโดยมีเจตนาเพื่อ....น่าจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย.." มีบทกำหนดโทษไว้ในมาตรา ๗๙ ให้จำคุกไม่เกิน ๖ เดือน ปรับไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑๐) โพสต์รูป “ โป้เปลือย ” ของบุคคลอื่น ทำได้หรือไม่ ?

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ ๒๕๕๐

มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) ...........

*****(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและ ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้*****

คำว่า “ลามก” ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ หมายถึง “ หยาบช้าต่ำทราม หยาบโลน อันเป็นที่น่ารังเกียจของคนดีมีศีลธรรม”

นอกจากนี้ อาจเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ กล่าวคือ

มาตรา ๓๒๖ ผู้ใด “ใส่ความ” ผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๒๘ ถ้าความผิดฐาน “ หมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา” ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ “จำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

(๑๑) แล้วจะต้องทำอย่างไร กับเรื่องนี้ ?

หากพลาดไปแล้ว ไปกู้ยืมหนี้นอกระบบ ที่มีเงื่อนไขพิสดาร และไม่เป็นธรรม ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม ดังเช่นคดีนี้

ก่อนอื่นต้อง “ รีบเก็บพยานหลักฐานทั้งหมด” ที่มีอยู่เช่น capture เก็บข้อมูลทั้งหมด หรือ SAVE บันทึกข้อมูลการโต้ตอบ ไม่ว่าจะเป็น ทาง LINE, ทางโปรแกรม MASSENGER , ทาง FACEBOOK ฯลฯ หรือ บันทึกเสียงสนทนา เป็นต้น

จากนั้น แจ้งความต่อ “พนักงานสอบสวน ” ในท้องที่ความผิดเกิด เช่น ท้องที่ หรือถิ่นที่อยู่ขณะเราติดต่อกับ เจ้าหนี้ หรือ ท้องที่ที่เจ้าหนี้มีภูมิลำเนา , ท้องที่ที่รับโอนเงินเข้ามา หรือท้องที่ที่โอนจ่ายหนี้ จ่ายดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้

หากมี “ พยานบุคคล” ใครที่รู้เห็นหรือได้รับเหตุการณ์การกู้ยืมเงินดอกเบี้ยโหด เงื่อนไขพิสดาร ต้องส่งรูปเปลือยกาย ท่อนล่าง ท่อนบน ให้พามาพบกับ พนักงานสอบสวน เพื่อเป็นพยาน

ทางแก้แบบ “กำปั้นทุบดิน” คือ ต้องไม่ไป “กู้หนี้นอกระบบ ” แต่ในยามที่ ไม่มีเงิน และมีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน หาทางออกไม่ได้

ใครไม่อยู่ในภาวะเช่นนี้ ย่อมไม่เข้าใจ

(๑๒) “ อัยการช่วยได้ ”

สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นที่พึ่งได้ สำนักงานอัยการสูงสุด โดย สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ซึ่งมีภารกิจ ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย โดยมี สำนักงานอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดทั่วทุกจังหวัดในประเทศ

โดยเฉพาะ “ หนี้นอกระบบ ” นั้น อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด (อจ.สคช.) เป็น “ ประธานอนุกรรมการแก้ไขหนี้นอกระบบจังหวัด” โดยประชาชนผู้ได้รับความไม่เป็นธรรม และ การปฏิบัติจาก เจ้าหนี้นอกระบบ ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทวงหนี้โหด สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้จาก สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือการกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

หรือ ติดต่อขอความช่วยจาก เวปบอร์ด “ อัยการช่วยได้” หรือ “สายด่วน ๑๑๕๗”

• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต)รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ ๒๕)

๔ มิถุนายน ๒๕๖๗



Mediathailand.Report

ติดต่อทำข่าว งานแถลงข่าว เชิญร่วมงาน , ข่าวประชาสัมพันธ์ , รีวิว โฆษณา ฯลฯ Admin: สื่อมวลชนคนทำข่าว , เพจ Mediathailand.report , Website : www.mediathailand.report , Youtube : MDT Channel ,https://www.tiktok.com/@mediathailand.report ,https://twitter.com/a_jaipiam ได้ที่ Email : pintorichplus@gmail.com

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า